ต่างหูไข่มุก "เลือกที่ใช่ ใส่ที่ชอบ"

Last updated: 11 ส.ค. 2566  |  59 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต่างหูไข่มุก "เลือกที่ใช่ ใส่ที่ชอบ"

ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วที่พี่พรายได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแหวนไข่มุกประเภทต่างๆไปแล้วนั้น วันนี้เลยจะขอกล่าวถึงต่างหูไข่มุกประเภทต่างๆกันบ้างครับ เพื่อให้เนื้อหามีความสอดคล้องกันกับคราวที่แล้วครับ ต่างหูไข่มุกมีกี่ประเภท จุดเด่น จุดด้อยของแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ไปติดตามพร้อมๆกันเลยครับ

การแบ่งประเภทของต่างหูไข่มุกนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ครับ คือ

  • แบ่งตามลักษณะของตัวเรือนต่างหู
  • แบ่งตามลักษณะการจัดวางไข่มุกบนตัวเรือน
แบ่งตามลักษณะตัวเรือนต่างหู

1.1 ตัวเรือนต่างหูแบบสตัด (Stud Earrings)
มาเริ่มกันที่ต่างหูไข่มุกแบบสตัด (Stud Earrings) ต่างหูยอดนิยมแบบสามัญประจำบ้าน ที่พี่พรายเชื่อว่า Pearl Lover ทุกท่านต้องมีอย่างน้อย 2-3 คู่ ตัวเรือนต่างหูแบบ Stud ก้านเสียบทะลุติ่งหู อาจจะเป็นตัวเรือนที่เรียบง่าย แต่เชื่อพี่พรายเถอะครับว่า เห็นง่ายๆแบบนี้ แต่สามารถนำมาเติมแต่งลูกเล่นและ Function การใช้งานได้อย่างหลากหลายทีเดียวเลยครับ เช่น เติมส่วนห้อยไข่มุก เป็น Jacket ที่สามารถถอดออกได้ หรือจะจัดวางตำแหน่งไข่มุกให้อยู่รวมๆกันเป็น กระจุกแบบ Cluster ไข่มุก ก็น่ารักไปอีกแบบครับ นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกดีไซน์ของส่วนทับหลังได้มากมายหลายแบบ เช่น ทับหลังแบบ Post Backs ผี้เสื้อ (Butterfly) ซิลิโคน, ถ้วยพยุง หรือจะเป็นทับหลังแบบ Clip on หรือที่มักเรียกกันว่าทับหลังแบบโอเมกานั่นเองครับ ซึ่งดีไซน์เหล่านี้ยังแฝงไปด้วย Function การใช้งานเพื่อให้ผู้สวมใส่ใช้งานได้ง่ายอีกด้วย เช่น ทับหลังต่างหูแบบถ้วยพยุงหลังเหมาะสำหรับไข่มุกขนาดจัมโบ้ ที่มีน้ำหนักมาก ที่ใส่แล้วด้านหน้าของต่างหูอาจจะคว่ำลง แลดูไม่สวยงาม ทับหลังแบบถ้วยพยุงจะทำให้การสวมใส่นั้นกระชับขึ้นและสร้างสมดุลย์ให้กับต่างหูไม่ให้คว่ำหน้าลงได้ครับ

1.2 ตัวเรือนต่างหูแบบเหน็บ (Earcuff Earring)
ต่างหูแบบเหน็บนั้นเหมาะสำหรับคนที่ไม่เจาะหู ลักษณะการสวมใส่จะเกี่ยวต่างหูไว้ตรงบริเวณติ่งหู หรือส่วนต่างๆของใบหู โดยผู้สวมใส่ไม่จำเป็นต้องมีรูเจาะที่หู เพื่อสวมใส่ตัวเรือนแต่อย่างใด จะสวมใส่แบบข้างเดียวเท่ห์ หรือ 2 ข้างก็ดูน่ารักดีครับ แต่ข้อเสียของต่างหูประเภทนี้คือ ตัวเรือนอาจจะยึดเกาะไม่แนบสนิทกับใบหู ทำให้ต่างหูหลุด หรือหล่นหายได้ง่าย เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันครับ

1.3 ตัวเรือนต่างหูแบบเข็มรูด (Threader Earrings)
ต่างหู แบบ Threader เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบต่างหูแบบห้อย หรือต้องการหลีกหนีความจำเจจากการสวมใส่ต่างหูตัวเรือนแบบเดิมๆ ซึ่งต่างหูแบบ Threader นั้นมักจะมีลักษณะเป็นลวด โซ่ หรือสร้อยเส้นเล็กๆ ที่ปลายสายเป็นปลายเข็ม สามารถรูดผ่านรูเจาะบนติ่งหูได้ โดยสามารถปรับระยะให้สั้นหรือยาวได้ ด้วยลักษณะเช่นนี้เอง ทำให้ส่วนตัวเรือนดูพริ้วไหว ไปตามอิริยบทและท่วงท่าการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ ดูน่ารัก อ่อนโยนและสวยงามมากครับ

1.4 ตัวเรือนต่างหูแบบห่วง ( Hoops Earrings)
ต่างหูห่วงเป็นต่างหูอีกแบบที่เสริมสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นสาวทันสมัย มีความมั่นใจในตัวเองสูง รักอิสรภาพและการผจญภัย ต่างหูแบบห่วงนั้นมักจะไม่มีกลไกอะไรที่สลับซับซ้อน เมื่อสวมใส่ก็ใช้ปลายก้านต่างหูเสียบทะลุรูเจาะบนติ่งหู และยึดด้วยทับหลัง เป็นอันว่าเสร็จสรรพ สวยงาม พร้อมเฉิดฉายครับ

1.5 ตัวเรือนต่างหูแบบ Huggie (Huggie Earrings)
ต่างหูแบบ Huggie นั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับต่างหูห่วง คือมีลักษณะเป็นวงกลม แต่จะแตกกันตรงที่ต่างหู Huggie จะมีบานพับ และส่วนเก็บปลาย อยู่ด้านหลัง ด้วยตัวเรือนที่เล็กกว่า และหนากว่าต่างหูแบบห่วง จึงทำให้สามารถนำเอาอัญมณีหรือไข่มุกมาตบแต่งบนตัวเรือนได้ หรือจะคล้องส่วนห้อย เป็น Jacket ที่สามารถถอดออกได้ก็ยิ่งเพิ่ม Function และลูกเล่นในการใช้งาน สามารถสวมใส่ได้หลากหลายโอกาสมากยิ่งขึ้นครับ

1.6 ตัวเรือนต่างหูแบบ Jacket ( Jacket Earrings)
ต่างหูแบบ Jacket นั้น โดยทั่วไปมักจะมีชิ้นส่วน 2 ชิ้น หรือมากกว่า ประกอบด้วยส่วนตัวเรือนที่เป็นตัวเรือนหลัก ไว้จับยึดกับส่วนของติ่งหูหรือใบหู และส่วนตัวเรือนรอง หรือเรามักจะเรียกว่าส่วนห้อย คือส่วนที่สวมเข้ากับตัวเรือนหลัก เพื่อเพิ่มลูกเล่น และ Function ในการใช้งาน

1.7 ตัวเรือนต่างหูแบบ Lever Back (Lever Back Earrings)
จุดเด่นของตัวเรือนต่างหูแบบ Lever Back นั้น คือ ส่วนก้านเสียบต่างหู ที่มีลักษณะบางและโค้งรับกับติ่งหู และมีส่วนกลไกคันโยกเก็บปลายก้าน ซ่อนอยู่ด้านหลังโค้งรับกับตัวเรือนอย่างกลมกลืน ดูไปดูมาก็คล้ายกับต่างหูแบบ Fish Hooks ที่มีส่วนเก็บปลายอยู่ด้านหลังนั่นเองครับ ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ต่างหูนั้นแน่นหนาไม่หลุดออกจากติ่งหูได้ง่ายครับ ต่างหูแบบ Lever Back แบบเกลี้ยง เป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันตัวเรือนต่างหูแบบ Lever Back ได้ถูกดีไซน์ให้ดูสวยงาม หรูหรา มีลูกเล่น และ Function การใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นครับ

1.8 ตัวเรือนต่างหูแบบ Latch Back (Lack Back Earrings)
ตัวเรือนต่างหูแบบ Latch Back นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับต่างหูแบบ Lever Back ครับ แต่แตกต่างกันที่ต่างหูแบบ Latch Back จะมีบานพับที่มีลักษณะเป็นกลอน ที่มีไว้รับส่วนปลายก้านเสียบของต่างหู ตัวเรือนแบบ Latch Back นั้นมีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้มาก จึงเหมาะกับการรองรับส่วนห้อยหรือไข่มุกที่ค่อนข้างมีน้ำหนักครับ

1.9 ตัวเรือนต่างหูแบบตะขอ (Fish Hooks Earrings)
ตัวเรือนต่างหูแบบ Fish Hooks ตะขอเกี่ยว นับว่าเป็นต่างหูแบบพื้นฐานที่สามารถนำไปประกอบเป็นต่างหูได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเติมไข่มุกเป็นส่วนห้อย หรือ จัดวางโครงสร้างแบบระย้า ก็ดูเหมาะสมลงตัวไปเสียหมด ข้อดีของการสวมใส่ต่างหูแบบ Fish Hooks ก็คือการลดทอนชิ้นส่วนของทับหลังต่างหูลง ไม่ต้องพะว้าพะวังกับการประกอบตัวเรือนเข้าด้วยกันเมื่อยามสวมใส่ แบบต่างหูสตัด แถมตัวเรือนยังสามารถรับน้ำหนักได้มาก มีความสมดุลย์ การใช้งานจึงสะดวกสะบาย ตัวเรือนต่างหูแบบ Fish Hooks จึงได้รับความนิยมไม่เคยเสื่อมคลายเลยครับ

แบ่งตามลักษณะการจัดวางไข่มุกบนตัวเรือน
2.1 ต่างหูไข่มุกเม็ดเดี่ยว (Solitiare Pearl Earrings)
2.2.1 ต่างหูไข่มุกเม็ดเดี่ยว แบบติดหู
ต่างหูไข่มุกเม็ดเดี่ยวแบบติดหูนั้น อาจจะมาในลักษณะของเม็ดมุกเม็ดเดียว โดยไม่มีองค์ประกอบหรือส่วนเสริมหรือเพิ่มเติมใดๆเลย หรือเป็นไข่มุกเม็ดเดี่ยว แบบมีอัญมณีล้อม (Cocktail) ก็ได้ครับ การคัดไข่มุกเพื่อนำมาทำต่างหูแบบติดหูนั้น นับเป็นความท้าทายอย่างมากของเกรดเดอร์ (Grader) ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างหูแบบสตัดไข่มุกเม็ดเดี่ยว ที่ต้องคัดสรรครูปทรง Luster และความสะอาดของพื้นผิวของไข่มุกที่ทุกด้านจะต้องสวยงามที่สุด เพราะต้องโชว์ความงามของไข่มุกเกือบครบทุกด้านครับ ไข่มุกที่ถูกคัดสรรมาทำกับตัวเรือนแบบติดหูนั้น สามารถนำไปประกอบกับตัวเรือนแบบห้อยก็ได้ครับ แต่การคัดไข่มุกเพื่อทำกับตัวเรือนแบบห้อยนั้น ไม่สามารถนำมาทำหรือประกอบเข้ากับตัวเรือนต่างหูแบบติดหูได้ครับ

2.2.2 ต่างหูไข่มุกเม็ดเดี่ยว แบบห้อย (Pearl Dangle Earrings)
ต่างหูไข่มุกแบบห้อยนั้น ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยลักษณะของตัวเรือนที่ห้อยและย้อยลง ทำให้ผู้สวมใส่นั้นดูมีคอที่เรียวและยาวขึ้นครับ การคัดเกรดต่างหูเพื่อใส่กับตัวเรือนต่างหูแบบห้อยนั้น เกรดเดอร์(Grader) จะต้องคัดเลือกรูปทรงของไข่มุกที่เหมาะสม (ไข่มุกทรงหยดน้ำ หรือทรงไข่ เป็นทรงที่เหมาะกับต่างหูแบบห้อยมากครับ) และต้องหา “หน้า” ของไข่มุกเพื่อโชว์ด้านที่สวยงามที่สุด และพยายามหลบรอยตำหนิของไข่มุกไว้ด้านหลัง หรือ ด้านข้าง หรือด้านล่าง ของต่างหู ด้วยครับ

 2.2 ต่างหูไข่มุกกระจุก (Pearl Cluster Earrings)
ต่างหูไข่มุกกระจุก อาจจะมาพร้อมตัวเรือนแบบ Stud หรือแบบ Fish hooks หรือประกอบกับตัวเรือนต่างหูแบบอื่นๆ ต่างหูไข่มุกแบบกระจุกมักจะใช้ไข่มุกเม็ดเล็กจัดวางเป็นกลุ่ม เป็นก้อน ด้วยลักษณะการจัดวางเช่นนี้เอง ทำให้ไข่มุกแต่ละเม็ดสามารถช่วยบดบังหรือหลบรอยตำหนิซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดีเลยครับ

2.3 ต่างหูไข่มุกแบบระย้า (Pearl Chanderlier Earrings)
ต่างหูไข่มุกแบบระย้านั้น ถูกออกแบบให้มีส่วนห้อยที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ต่างหูไข่มุกแบบระย้านั้น จะให้ความรู้สึกโออ่า หรูหรา และโรแมนติก การสวมใส่ต่างหูแบบระย้าอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นจึงต้องหาวาระและโอกาสที่เหมาะสม ในการสวมใส่ สำหรับสุภาพสตรีที่นิยมชมชอบในต่างหูประเภทนี้ก็อย่างเพิ่งน้อยใจนะครับ เพราะปัจจุบันนี้รูปแบบของต่างหูแบบระย้าได้ถูกพัฒนาให้ดูทันสมัย สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวันมากขึ้นแล้วครับ

เอาละครับ หวังว่าสาระน่ารู้ที่พี่พรายนำมาฝากในวันนี้จะถูกใจท่านลูกค้าทั้งหลายของ PAKASIA นะครับ ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์ ช่วยกด Like กด Share ให้พี่พรายด้วยนะครับ ถ้าท่านมีข้อสงสัยประการใดสอบถามพี่พรายเข้ามาได้นะครับ ตามช่องทางดังนี้ครับ
 
Line id : @mookdee
Tel :  075-810-028
IG: pakasia_pearls
facebook: Pakasiaa Prime
www.pakasiapearl.com



 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้